นางพญามดอยู่รวมกันหลายตัวได้ไหม??

นางพญามดอยู่รวมกันหลายตัวได้ไหม??

ก่อนอื่นเลยขอพูดถึงนางพญามด Atta ในภาพก่อน จนถึงปัจจุบันนางพญามดชนิดนี้ได้ตายไปแล้ว 3 ตัว ด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่รู้ จากประสบการณ์ทั้งหมดที่ผมมี ผมคาดหวังว่าจะสามารถเลี้ยงจนเป็นรังได้ไม่ต่ำกว่า 5 รัง แต่ผ่านมา 3 คืนตาย 3 ตัว ตอนนี้คาดหวังว่ารอด 1-2 รังก็พอใจละ  นางพญามดชนิดนี้เท่าที่ทราบมานางพญาสามารถอยู่รวมกันได้หลายตัวในช่วงแรกๆ แต่หลังจากนั้นเมื่อมีมดงานจำนวนหนึ่ง มดงานจะเลือกนางพญาเพียงตัวเดียว แล้วกำจัดนางพญาตัวอื่นๆทิ้ง

มดชนิดนี้ก็แปลกอย่างเพราะดูเหมือนว่าจะเริ่มต้นได้ดีกว่าถ้ามีนางพญามดมากกว่า 1 ตัวในรัง เหมือนนางพญามดจะสงบนิ่งกว่า ประมาณว่ามีเพื่อนอยู่ข้างๆกัน ช่วยกันออกไข่ดูแลเชื้อรา ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมากๆ แต่ก็น่าสนใจมากๆเช่นกันเพราะเมื่อสุดท้ายแล้วจะฆ่ากันจนเหลือแค่นางพญาหลักตัวเดียว(อันนี้เท่าที่ผมได้ข้อมูลมานะ) พอเอา 2 ตัวใหญ่ๆแบบนี้มาอยู่รวมกันแล้วโคตรอลังการ ตอนแรกใส่ไป 3 ตัวแต่เพิ่งตายไป 1

มดแทบทุกชนิดมีนางพญา 1 ตัวต่อ 1 รังเท่านั้น ถ้าใส่นางพญาตัวอื่นๆลงไปด้วยแม้จะเป็นชนิดเดียวกันมันจะกัดกัน เรียกว่า “ Monogyny ”

มีมดย่อยลงไปเพียงไม่กี่ชนิดที่นางพญาสามาถสร้างรังอยู่รวมกันได้ ตัวอย่างเช่น มดตะลานส่วนใหญ่มีนางพญาได้แค่หนึ่งตัวต่อหนึ่งรัง แต่ก็มีมดตะลานบางชนิดที่สามารถมีนางพญาได้หลายตัวในหนึ่งรัง มดที่สามารถมีนางพญาได้หลายตัวในรังเรียกว่า “ Polygyny ”

การรวมนางพญามดควรรวมตั่งแต่ช่วงแรกๆที่นางพญาออกบิน ไม่ใช่หลังจากที่มีมดงานแล้ว และทำได้เพียงกับมดแค่บางชนิดเท่านั้น นางพญามดบางชนิดจะเลือกว่ามันจะทำรังอยู่ร่วมกับนางพญามดตัวไหน ผมเคยทำการทดลองด้วยการวางหลอดทดลองลงไปหลายๆหลอด แล้วใส่นางพญาลงไปหลายๆตัว แต่ละหลอดมีนางพญาร่วมกันตั่งแต่ 1-3 ตัว จากการสังเกตุคือ นางพญาที่อยากอยู่ตัวเดียวจะกัดไล่นางพญามดตัวอื่นๆออกจากหลอดทดลอง ส่วนนางพญาตัวไหนถูกชะตากันอยากจะอยู่ร่วมกัน พวกมันจะอยู่หลอดเดียวกันไม่มีท่าทีจะโจมตีกัน แล้วช่วยกันทำความสะอาดให้กันและกัน

อีกการทดลองคือ ผมเอานางพญาพร้อมมดงานและไข่นิดหน่อยจำนวน 7 รัง มาวางเรียงต่อๆกัน ผ่านไปหนึ่งคืนนางพญาและมดงานรวมไปถึงไข่และตัวอ่อนทั้งหมดย้ายมาอยู่รวมกันในหลอดทดลองหลอดเดียว การสร้างรังร่วมกันของนางพญาก็มีรูปแบบย่อยๆลงไปอีก เช่น นางพญามดบางชนิดสามารถสร้างรังด้วยกันตลอดไป บางชนิดสามารถร่วมสร้างรังด้วยกันจนกระทั่งมีมดงานจำนวนหนึ่งแล้วนางพญาตัวที่อาจจะมีสารฟิโรโมนแข็งแรงที่สุดสามารถสั่งมดงานให้ฆ่านางพญาตัวอื่นๆได้เพื่อที่จะยึดรังเป็นของตัวเอง(อันนี้ยังไม่ได้หาอ่านรายละเอียดแบบจริงๆจังๆเกี่ยวกับวิธีการที่นางพญาสั่งมดงานฆ่ามดงานตัวอื่นๆได้อย่างไร หรือมดงานเลือกที่จะฆ่านางพญาตัวไหนอย่างไร รู้แค่คร่าวๆ ไว้จะกลับมาเขียนใหม่)

นางพญาบางชนิดเริ่มแรกสามารถอยู่รวมกันได้ พอออกไข่ผ่านไปสักพักหนึ่งไข่ยังไม่ทันเป็นตัวอ่อนก็กัดกันเองจนเหลือนางพญาแค่ตัวเดียว เรื่องแปลกๆอีกเรื่องหนึ่งคือ มดชนิดเดียวกัน แต่คนละสถานที่กันเช่น มดคันไฟจากสถานที่ A เป็นมดที่นางพญาสามารถอยู่ร่วมกันได้มากกว่าหนึ่งตัวและสร้างรังร่วมกัน(Polygyny) ในขณะที่มดคันไฟชนิดเดียวกันแต่อยู่ห่างไกลออกไปที่สถานที่ B นางพญามดไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ต้องเลี้ยงแบบเดี่ยวๆเท่านั้น(Monogyny)

**  สุดท้ายแล้วผมไม่แนะนำอย่างยิ่งที่จะนำนางพญามารวมกันแล้วทิ้งไว้เฉยๆโดยไม่เฝ้าดู ถ้าไม่รู้ว่านางพญามดชนิดนั้นๆสามารถรวมกันได้หรือไม่ การร่วมกันของนางพญามดทุกอย่างขึ้นอยู่กับมดแต่ละชนิดนางพญาแต่ละตัวและอาจจะรวมไปถึงสถานที่ด้วย

** ปล. ขอโทษด้วยภาพไม่ค่อยสวย ไม่อยากรบกวนมดมากครับ รีบถ่ายรีบเก็บกลัวมดตาย ขาวๆนั้นคือเชื้อราครับ

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart

ไม่มีสินค้าในตะกร้า